ผู้วิจัยและปลูกได้ผลมะพร้าวกะทิทั้งสวน คนแรกของไทย
มะพร้าวกะทิ มีเนื้อหนา ฟู อ่อนนิ่ม รสหวานมันอร่อย เป็นที่นิยมบริโภค แต่ค่อนข้างหายาก เพราะโอกาสที่จะปลูกให้ติดผลเป็นมะพร้าวที่มีเนื้อเป็นวุ้นคล้ายกะทินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จึงมีราคาสูงกว่ามะพร้าวธรรมดา 5-10 เท่า แต่ด้วยความสามารถของ ดร.อุทัย จารณศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชจึงทำให้เขาสามารถวิจัย วิเคราะห์ จนสามารถสร้างเกาะมะพร้าวกะทิได้สำเร็จและถูกบันทึกให้เป็นผู้วิจัยและปลูกได้ผลมะพร้าวกะทิทั้งสวน คนแรกของไทย

ดร.อุทัย เป็นนิสิตคณะเกษตรศาสตร์ กอปรกับมีความสนใจตามคุณพ่อ และความชื่นชอบเกี่ยวกับการเพาะกล้วยไม้ตามแบบอาจารย์ระพี สาคริก ดร.อุทัยจึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์และผู้ช่วยวิจัยกับอาจารย์ระพีตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ทำให้มีความรู้ที่นอกเหนือจากในตำรา อีกทั้งยังได้รับทุนศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย หลังจากได้เป็นดอกเตอร์แล้วจึงเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวนเป็นเวลา 5 ปี และไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีก 1 ปี ณ ไอวอรี่โคสต์ ในฐานะผู้จัดการสวนดอกหน้าวัวตัดดอก และที่นี่เองที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผสมพันธุ์พืช การคัดเลือกพันธุ์พืช เทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับกล้วยไม้ตัดดอก และได้กลับมาประเทศไทยเพื่อร่วมงานกับบริษัทบางกอกฟลาวเวอร์ เซ็นเตอร์ หนึ่งในสามผู้นำด้านแลปขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยเนื้อเยื่อ โดยดร.อุทัยรับผิดชอบในส่วนงานโคลนนิ่งต้นไม้ และดูแลแลปขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยเนื้อเยื่อเพื่อรับบริการขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยเนื้อเยื่อ
ในระหว่างพศ. 2526-2527 เส้นทางสู่มะพร้าวกะทิก็ได้เริ่มขึ้น ดร.อุทัยได้รับการทาบทามจาก บริษัท United Coconut Planter Bank เพื่อไปร่วมวิจัยและวางแผนจัดทำเกาะมะพร้าวกะทิ 100% ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เขาจึงศึกษาแนวทางของผู้ที่วิจัยและประสบความสำเร็จก่อนหน้า แล้ววางแผนดำเนินการเรื่อยมา ต่อมาเกิดวิกฤติทางการเมืองในฟิลิปปินส์ โครงการจึงหยุดชะงักลง แต่ด้วยการสนับสนุนคุณจิตติ รัตนเพียรชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชของบริษัท จึงได้ช่วยโน้มน้าวให้ทางบริษัทดำเนินโครงการต่อ อาจารย์และคณะทำงานจึงเดินหน้าสานต่อโครงการ
ดร.อุทัย อธิบายวิธีการเพาะพันธ์ุมะพร้าวกะทิอย่างคร่าวๆ ว่า :
เนื่องจากมะพร้าวกะทิเกิดจากการกลายพันธุ์จากมะพร้าวธรรมดา โดยยีนส์ที่ควบคุมการสะสมแป้งในผลมะพร้าว กลายพันธุ์เป็นสะสมสารกาแลคโตแมแนน (Galactomannan) ทำให้เนื้อมะพร้าวนุ่มกว่ามะพร้าวธรรมดา โดยมะพร้าวกะทิจะงอกยากมากตามธรรมชาติ จึงต้องมีการช่วยชีวิตของคัพภะ (embryo คือ ส่วนที่เป็นเมล็ดสีเหลืองอ่อนที่อยู่ในเนื้อมะพร้าวตรงบริเวณตานิ่ม ซึ่งจะพัฒนาเป็นจาว และต้นมะพร้าว) แล้วนำคัพภะนั้นมาเลี้ยงในขวดปลอดเชื้อขนาดเล็ก เมื่อคัพภะเจริญเติบโตขึ้นเป็นยอดและราก แล้วจึงนำคัพภะนั้นไปเลี้ยงในขวดขนาดใหญ่ขึ้น ใช้เวลา 6 เดือน-1ปี แล้วลำต้นจะโตเต็มขวด ต้นก็จะมียอดสมบูรณ์มีใบขึ้นมา 3-5 ใบและมีรากงอก และนำไปเลี้ยงในกระถางในห้องชื้นเพื่อปรับสมดุล จนมีใบงอกมาอีก 1 ใบจึงนำมาตั้งนอกห้องชื้นเพื่อรับแดดและจะมีใบใหม่จะงอกเพิ่มอีก 2 -3 ใบ แล้วทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์จึงนำออกปลูกได้ ภายนอกจะดูคล้ายมะพร้าวปกติหรือสังเกตุโดยการเขย่า หรือเล็บจิกไปที่เปลือกมะพร้าวจะนิ่มกว่ามะพร้าวปกติ โดยแบ่งออกเป็นมะพร้าวเนื้อหนาเล็กน้อยและนุ่มเล็กน้อย น้ำข้นเล็กน้อย เนื้อหนาปานกลาง นุ่มปานกลาง เนื้อหนามากและเนื้อฟูเต็มลูก โดยในการวิจัยครั้งนี้ ในช่วงพศ. 2526 ดร.อุทัย พร้อมคณะทำงาน ได้ช่วยชีวิตคัพภะได้จำนวน 2,100 ต้นพร้อมปลูกสูง 1 เมตร ในถุงอนุบาล จากมะพร้าวกะทิ 50,000 ผลทั่วไทย และมาปลูกในได้ครบทุกต้นได้ภายใน พศ.2531-2534 ณ เกาะแห่งหนึ่ง กลางทะเลสาบ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการปลูกให้เกิดเป็นผลที่มีเนื้อกะทิได้นั้น สถานที่ปลูกก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งต้องปลูกโดยไม่ให้มีการผสมพันธ์ุกับมะพร้าวปกติได้ จึงต้องปลูกในที่ห่างไกลจากละอองเกสรที่จะสามารถปลิวมาถึง จำเป็นคำตอบที่ว่าทำไมจึงต้องปลูกบนเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ และไม่มีมะพร้าวพันธ์ุอื่นขึ้นอยู่เลย
ดร.อุทัย จารณศรี คือ ตัวอย่างนักค้นคว้าวิจัยที่เดินทางออกหาประสบการณ์จากทั่วโลกมาพัฒนาประเทศไทย เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์เกษตร นักพัฒนาที่มีคุโณปการต่อแวดวงเกษตรที่ทรงคุณค่าและน่าชื่นชมอย่างแท้จริง
HAILAND RECORDS
Believe, We CAN
บันทึกไทย
เชื่อ...ในตัวคุณ
Believe, We CAN
บันทึกไทย
เชื่อ...ในตัวคุณ